วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น :

การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างถูกวิธี



การยกและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
การยกและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังมากไม่ให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บหรืออันตรายเพิ่มขึ้นอีก และผู้ที่ทำการยกหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเอง ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ตนเองได้รับบาดเจ็บจากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ไม่ถูกวิธีด้วย

เหตุผลสำคัญในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
1. อาการของผู้ป่วยไม่ปลอดภัย จำเป็นต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล
2. สถานการณ์ในที่เกิดเหตุไม่ปลอดภัย เช่น ผู้ป่วยติดอยู่ในกองเพลิง หรือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถชน มีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปในที่ปลอดภัย หากมีอุบัติเหตุที่อาจทำให้มีการบาดเจ็บของไขสันหลัง จะต้องมีการดามกระดูกสันหลังก่อนเสมอ เช่น ผู้ป่วยตกจากที่สูง หรืออุบัติเหตุรถชน
ก่อนจะทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะต้องแก้ไขส่วนที่บาดเจ็บก่อน โดย
- ถ้าผู้ป่วยมีบาดแผล ต้องทำการห้ามเลือดก่อน
- ถ้าผู้ป่วยมีกระดูกหัก จะต้องดามกระดูกก่อน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยบาดเจ็บมากขึ้นในระหว่างการเคลื่อนย้าย

หลักการที่จะต้องยึดถือเสมอเมื่อจะทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
1. ไม่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น ยกเว้นอาการไม่ปลอดภัยหรือสถานการณ์ที่เกิดเหตุไม่ปลอดภัย
2. ไม่เคลื่อนย้ายผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง โดยไม่ได้ดามกระดูกก่อน
3. ไม่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยที่ยังไม่ได้แก้ไขส่วนที่บาดเจ็บ
4. ไม่ทิ้งผู้ป่วยที่หมดสติอยู่เพียงลำพัง เพราะเราไม่ทราบว่าอาการของผู้ป่วยจะทรุดหนักเมื่อไร
5. ไม่ทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บมากขึ้น
6. ไม่ทำในสิ่งที่ไม่รู้หรือไม่แน่ใจ ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าควรทำอย่างไร อย่าตัดสินใจกระทำในสิ่งที่ไม่รู้โดยเด็ดขาด


กฎในการยกและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
การยกและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมีหลายวิธี แต่มีหลักการเหมือนกัน คือ
1. บอกเล่าแผนการกับผู้ช่วยว่าจะทำอะไร ที่สำคัญคือ ต้องบอกผู้ป่วยด้วยว่าจะทำอะไรกับเขาบ้าง
2. ประมาณกำลังที่จะยกผู้ป่วย หากไม่แน่ใจว่าจะยกไหวต้องหาคนช่วยให้มากพอ ห้ามลองยกเด็ดขาด เพราะผู้ป่วยอาจได้รับอันตราย
3. ห้ามทำหลังงอเวลายก เพราะจะทำให้หมอนรองกระดูกหลังเคลื่อน ทำให้ปวดหลัง หรือเสียวแปลบตามเส้นประสาท ต้องให้หลังตรงเสมอ
4. เวลายกผู้ป่วยต้องงอขา และหนีบแขน กำมือที่จับผู้ป่วยให้แน่นให้มือและแขนอยู่แนบลำตัวมากที่สุด จะทำให้ได้แรงมาก
5. ต้องยกผู้ป่วยโดยให้ตัวเราอยู่ในสมดุล น้ำหนักจะลงที่ศูนย์กลางลำตัว ทำให้ออกแรงได้เต็มที่ และผู้ยกเองปลอดภัย จะไม่เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
6. ต้องทำด้วยความละมุนละม่อมที่สุด

การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเล็กน้อยและ/หรือรู้สึกตัว

ผู้ช่วยเหลือ 1 คน
1. ท่าประคองเดิน
ใช้สำหรับผู้ป่วยรู้สึกตัวดี และพอจะช่วยตัวเองได้ ไม่มีกระดูกหรือกระดูกหลังหักและผู้ป่วยตัวใหญ่พอๆ กับผู้ช่วยเหลืออย่าลืมขั้นตอนในการเคลื่อนย้ายต้องบอกเล่าแผนการแก่ผู้ป่วยก่อนเสมอว่า เราจะช่วยทำอย่างไร จะพาเดินไปทางไหนและประมาณกำลัง ต้องให้ผู้ป่วยเดินนำหน้าเสมอ ผู้ช่วยต้องคอยมองเท้าของผู้ป่วยถ้าผู้ป่วยล้มระหว่างทางจะได้ประคองผู้ป่วยไว้ได้อย่างปลอดภัยทั้งต่อผู้ป่วยและตนเอง




2. การอุ้ม
ถ้าผู้ป่วยตัวเล็กกว่าผู้ช่วยเหลือมาก และไม่มีกระดูกหักที่ใดๆ การอุ้มจะเป็นการเคลื่อนย้ายที่สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย แต่ถ้าผู้ป่วยตัวใหญ่และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ อาจใช้วิธียกโดยคนหลายๆ คน


ผู้ช่วยเหลือ 2 คน
1.การประคองเดิน
ผู้ป่วยพอช่วยตัวเองได้ ไม่มีกระดูกขาหรือกระดูกสันหลังหัก





2.กรณีที่ผู้ป่วยตัวใหญ่ อุ้มคนเดียวไม่ไหวและไม่มีกระดูกส่วนใดหัก
การอุ้มคนละข้างของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ควรให้ผู้ป่วยเอามือโอบบ่าของผู้ช่วยเหลือทั้งสอง แต่การยกวิธีนี้จะทำได้ไม่ค่อยถนัด
การเคลื่อนย้ายโดยผู้ช่วยเหลือ 2 คน คนหนึ่งอยู่ด้านหน้าอีกคนหนึ่งอยู่ด้านหลังจะทำได้สะดวกมากกว่า ขั้นแรกต้องพยุงผู้ป่วยขึ้นมาอยู่ในท่านั่ง ผู้ช่วยคนที่1ประคองด้านหลังของผู้ป่วย โดยสอดแขนมาจับแขนของผู้ป่วยด้านหน้า ผู้ช่วยคนที่ 2สอดแขนเข้าใต้ข้อพับเข่าของผู้ป่วยแล้วลุกขึ้นยืนพร้อมกัน




การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บรุนแรงและ/หรือไม่รู้สึกตัว

ผู้ช่วยเหลือ 1 คน
1. ท่าลาก
ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่นไฟไหม้ ผู้ป่วยสำลักควันหมดสติ หรือรถชนหมดสติอยู่กลางถนน จำเป็นต้องทำการเคลื่อนย้ายออกจากที่เกิดเหตุโดยเร็ว เคลื่อนย้ายในระยะทางสั้นๆ และจะต้องเป็นที่ราบเรียบ


2. ท่าอุ้มแบก
ในกรณีที่ผู้ป่วยตัวเล็ก ผู้ช่วยเหลือตัวใหญ่ ผู้ป่วยไม่มีส่วนใดหักเลื่อนย้ายไประยะทางไกลๆได้สะดวก




ผู้ช่วยเหลือ 3-4 คน
ในกรณีที่ผู้ป่วยตัวใหญ่มาก จำเป็นต้องใช้ผู้ช่วยเหลือมากกว่า 2 คนในการเคลื่อนย้าย การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยวิธีนี้ผู้ป่วยจะรู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากกว่า แต่ผู้ช่วยเหลือต้องยึดหลักในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างแม่นยำ และต้องทำอย่างนุ่มนวล ที่สำคัญ คือ ต้องแน่ใจว่ายกผู้ป่วยไหว ถ้าไม่แน่ใจห้ามลองยกเด็ดขาด ต้องหาคนมาช่วยอีก ถ้าใช้คนมากขึ้นจะช่วยให้ผู้ป่วยปลอดภัยมากขึ้น



การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บที่กระดูกสันหลังหัก
กระดูกสันหลังหักมักมีอันตรายต่อเส้นประสาทไขสันหลัง ทำให้เกิดอัมพาตได้ ถ้าบริเวณคอ อาจทำให้ผู้ป่วยตายได้ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยจึงมีความสำคัญมาก
ถ้าการช่วยเหลือไม่ดีอาจทำให้เส้นประสาทไขสันหลังถูกกดและถูกทำลายมากขึ้น ถ้าต้องทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนราบเสมอ เช่น
ให้นอนบนบานประตู หรือไม้กระดานแผ่นเดียว เวลายกผู้ป่วยต้องยกให้ตัวตรงเป็นท่อนไม้ เมื่อผู้ป่วยนอนบนกระดานแล้ว มัดตัวผู้ป่วยติดกระดานให้แน่นพอดีพร้อมกับนำวัตถุที่แข็ง 2 ชั้น มาประกบที่ศีรษะทั้ง 2 ข้าง เพื่อยึดให้ศีรษะและคออยู่นิ่งไม่ให้เคลื่อนไหว

ไม่ว่าจะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยวิธีใดก็ตาม ต้องยึดถือหลักในการยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด และต้องคิดถึงความปลอดภัยทั้งของผู้ป่วยและตัวผู้ช่วยเหลือเองไว้เสมอ



อุบัติเหตุหมู่
ในสถานการณ์ภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุหมู่ เมื่อท่านพบเหตุการณ์เป็นคนแรกควรปฏิบัติดังนี้
1. ประเมินดูสถานการณ์ที่เกิดเหตุว่าปลอดภัยหรือไม่ หากไม่ปลอดภัยห้ามเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ รอจนกว่าเหตุการณ์นั้นจะปลอดภัยจึงจะเข้าไปให้การช่วยเหลือ
2. เมื่อเข้าไปถึงตัวผู้ป่วยแล้วให้ตรวจสภาพผู้ป่วยอย่างคร่าว ๆ
3. แจ้งขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในขณะแจ้งขอความช่วยเหลือ ตั้งสติให้ดี พูดให้ชัดเจน อย่าตื่นเต้น แล้วแจ้งข้อมูลดังนี้
- สถานที่เกิดเหตุ
- ซื่อผู้แจ้ง และบอกเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับ
- เกิดเหตุอะไร มีผู้บาดเจ็บกี่คน
4. เข้าไปประเมินสภาพผู้ป่วยขั้นต้น โดย
- ตรวจดูความรู้สึกตัว โดยการเรียกร้องหรือตีที่ไหล่เบาๆ
- ตรวจดูทางเดินหายใจ
- ตรวจดูการหายใจ
- ตรวจชีพจร
- ตรวจดูการบาดเจ็บ
5. ให้การปฐมพยาบาล ถ้ามีการบาดเจ็บเลือดออก ให้ห้ามเลือดก่อนหลังจากนั้นตรวจดูว่ากระดูกหักที่ใดบ้าง ให้ทำการดาม
6. แจ้งรายละเอียดเพิ่มเติม

ในกรณีมีผู้บาดเจ็บหลายคนพร้อมกัน ควรทำการประเมินสภาพผู้ป่วยคร่าวๆ ทุกคนเพื่อทำการคัดแยก และพิจารณาจัดลำดับความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ โดยใช้แนวทางในการคัดแยกดังนี้

1. แบ่งผู้บาดเจ็บออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- กลุ่มผู้บาดเจ็บที่เดินได้
- กลุ่มผู้บาดเจ็บที่เดินไม่ได้
2.กลุ่มผู้บาดเจ็บที่เดินได้ให้แยกไว้กลุ่มหนึ่ง ส่วนผู้บาดเจ็บที่เดินไม่ได้ให้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มผู้บาดเจ็บที่หมดสติ มีปัญหาเรื่องการหายใจ ซ็อค เสียเลือดมากไม่สามารถห้ามเลือดได้ มีแผลไฟไหม้ที่รุนแรงให้ถือว่าผู้บาดเจ็บกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นอันดับแรกส่วนที่เหลือนอกจากที่กล่าวไปแล้ว ให้ถือความสำคัญเป็นอันดับที่ 2
3.กลุ่มที่เดินได้นั้นให้ลำดับความสำคัญเป็นอันดับ 3 และอันดับสุดท้าย ผู้ที่เสียชีวิตเพราะไม่จำเป็นต้องให้การรักษาพยาบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น