วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การใช้ผ้ายืด ผ้าสามเหลี่ยม



ประโยชน์ของผ้าพันแผล
1. ใช้ห้ามเลือด
2. ป้องกันการติดเชื้อ
3. พันเฝือกในรายกระดูกหัก
4. ใช้ยึดผ้าปิดแผลให้อยู่กับที่

ชนิดของผ้าพันแผลที่ใช้ในการปฐมพยาบาล แบ่งกว้าง ๆ ได้ 2 ชนิด
1. ผ้าพันแผลชนิดเป็นม้วน แบ่งเป็นชนิดธรรมดา (Roll gauze bandage) และ ชนิดผ้ายืด (Elastic bandage)
2. ผ้าสามเหลี่ยม (Triangular bandage) เป็นผ้าสามเหลี่ยมมีฐานกว้าง และด้านประกอบสามเหลี่ยมยาว 36-40 นิ้ว

หลักทั่วไปในการพันผ้า
1. ก่อนพันผ้าทุกครั้ง ผ้าที่พันต้องม้วนให้เรียบร้อย ไม่หลุดลุ่ย
2. จับผ้าด้วยมือข้างที่ถนัด โดยหงายม้วนผ้าขึ้น
3. วางผ้าลงบริเวณที่ต้องการพัน พันรอบสัก 2-3 รอบ เมื่อเริ่มต้น และสิ้นสุดการพัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผ้าคลายตัวหลุดออก
4. พันจากส่วนปลายไปหาส่วนโคน หรือ พันจากข้างล่างขึ้นข้างบน หรือ พันจากส่วนเล็กไปหาส่วนใหญ่
5. เมื่อสิ้นสุดการพัน ควรผูกหรือใช้เข็มกลัดหรือติดพลาสเตอร์ให้เรียบร้อย แต่ไม่ให้ทับบริเวณแผล
6. การใช้ผ้ายืดต้องระวังการรัดแน่นจนเกินไป จนเลือดเดินไม่สะดวกและกดทับเส้นประสาท สังเกตได้จากการบวม สีผิวซีด ขาว และเย็น พร้อมทั้งผู้บาดเจ็บจะบอกถึงอาการปวดและชา
7. ถ้ามีอาการปวดและชา บริเวณที่พันผ้า ให้รีบคลายผ้าที่พันไว้ออกแล้วจึงพันใหม่
8. ถ้าพันผ้าบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้าทั้ง 5 นิ้ว ต้องไม่ปล่อยให้ผิวหนังแนบติดกัน ให้พันผ้าไปตามซอกนิ้วมือ นิ้วเท้า ถ้าพันผ้าบริเวณขาหนีบหรือใต้รักแร้ ใช้ผ้านุ่มๆรองเสียก่อน เพื่อป้องกันผิวหนังชื้น ถ้าพันแผลบริเวณข้อหรือกระดูก ให้วางผ้านุ่มๆก่อนเช่นกัน เพื่อป้องกันการกดทับลงไปบนกระดูกหรือข้อโดยตรง
9.การเลือกขนาดผ้าพัน การเลือกขนาดผ้าพันควรเลือกให้เหมาะสมกับอวัยวะที่ต้องการพันผ้า โดยทั่วไปถ้าเป็นคนที่มีขนาดร่างกายในระดับปกติ ควรเลือกขนาดผ้าพันที่นำมาใช้ ดังนี้
- นิ้วมือ นิ้วเท้า ใช้ผ้าพันแผลขนาดกว้าง 1 นิ้ว
- ศีรษะ มือ แขนขาของเด็ก ใช้ผ้าพันแผลขนาดกว้าง 2 นิ้ว
- แขนขาผู้ใหญ่ ใช้ผ้าพันแผลขนาดกว้าง  2-3นิ้ว
- สะโพก โคนขา ลำตัว ศีรษะผู้ใหญ่ ใช้ผ้าพันแผลขนาดกว้าง 3-6นิ้ว

การพันผ้าสามเหลี่ยม

    การพันผ้าสามเหลี่ยมมีประโยชน์หลายอย่าง  เช่นเดียวกับการพันผ้าแบบม้วน  เพราะสามารถดัดแปลงเป็นผ้าพันแผลแบบม้วนได้  ในกรณีที่ขณะนั้นไม่มีผ้าพันแผลแบบม้วน  ตามภาพที่  2.10  แล้วนำไปใช้กับอวัยวะต่างๆ  เช่น  ศีรษะ  หัวไหล่  แขน  ใบหน้า  ทรวงอก  สะโพก  ข้อศอก  ข้อเข่า  มือ  และเท้า  เป็นต้น  ซึ่งที่นิยมใช้มาก  คือ  พยุงแขนไหล่ท่างอศอกแล้วคล้องคอไว้  หรืออาจพับทบตามยาวใช้ผูกเฝือกได้ด้วย  ซึ่งควรใช้เงื่อนพิรอดในการผูกเสมอเพราะไม่เกิดปมกดทับ  ผ้าสามเหลี่ยมอาจทำมาจากผ้าลินินหรือผ้าฝ้ายก็ได้  โดยใช้ผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัส  แล้วตัดแบ่งครึ่งตามแนวเส้นทแยงมุมก็จะได้ผ้าสามเหลี่ยมตามต้องการ  ดังนั้น  จึงควรทราบวิธีใช้ผ้าสามเหลี่ยมกับอวัยวะต่างๆ  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

    1.   การใช้ผ้าสามเหลี่ยมพันศีรษะ
        การใช้ผ้าสามเหลี่ยมพันศีรษะจะช่วยยึดผ้าทำแผลที่ศีรษะให้อยู่กับที่ได้  แม้ว่าจะไม่มีแรงกดพอที่จะห้ามเลือดได้  เริ่มต้นโดยการพับฐานของผ้าสามเหลี่ยมให้กว้างประมาณ  2  นิ้ว  วางผ้าสามเหลี่ยมทาบลงบริเวณหน้าผากให้ส่วนพับอยู่ด้านนอก  มุมยอดของผ้าสามเหลี่ยมจะอยู่ด้านหลังศีรษะแล้วจับชายผ้าทั้งสองไขว้กันอ้อมท้ายทอยผูกเงื่อนพิรอดเหนือหน้าผาก  แล้วเก็บชายผ้าส่วนมุมยอดให้เรียบร้อย

    2.   การใช้ผ้าสามเหลี่ยมพันใบหน้า
        การใช้ผ้าสามเหลี่ยมพันใบหน้า  จะช่วยยึดขากรรไกรล่างหรือบาดแผลบริเวณคาง  เริ่มต้นโดยการพับผ้าสามเหลี่ยมให้มีลักษณะคล้ายผ้าพันแผลแบบม้วน  มีความกว้างประมาณ  2 – 3  นิ้ว  แล้ววางผ้ารองใต้คางทาบลงบนส่วนที่บาดเจ็บ  ผูกไขว้กันบริเวณขมับด้านตรงข้ามส่วนที่เจ็บ  อ้อมผ้ามาผูกเงื่อนพิรอดบริเวณขมับเหนือใบหู

    3.   การใช้ผ้าสามเหลี่ยมคล้องแขน
        การใช้ผ้าสามเหลี่ยมคล้องแขน (Arm  Sling)  จะช่วยจำกัดการเคลื่อนไหวของแขนและข้อมือที่บาดเจ็บให้อยู่นิ่ง  เริ่มต้นโดยวางผ้าสามเหลี่ยมให้มุมยอดของผ้าอยู่ใต้ข้อศอกข้างที่บาดเจ็บ  งอข้อศอกให้นิ้วมืออยู่สูงกว่าระดับข้อศอกเล็กน้อย  จากนั้นให้จับชายผ้าด้านล่างตลบกลับขึ้นข้างบนไปที่ไหล่ข้างเดียวกับข้อศอกข้างที่บาดเจ็บ  แล้วผูกชายผ้าทั้งสองให้เป็นเงื่อนที่ด้านหลังคอ  เก็บมุมยอดของผ้าที่ข้อศอกให้เรียบร้อย

    4.   การใช้ผ้าสามเหลี่ยมยกแขน
        การใช้ผ้าสามเหลี่ยมยกแขน (Elevation  Sling)  จะช่วยลดการไหลของเลือดที่ออกบริเวณนิ้วมือหรือข้อมือ  และยังช่วยลดการเคลื่อนไหวของแขนในกรณีที่มีกระดูก         ไหปลาร้าหรือกระดูกซี่โครงหัก  เริ่มต้นโดยยกแขนข้างที่บาดเจ็บ  วางพาดไว้ที่หน้าอกให้ปลายนิ้วมืออยู่ที่หัวไหล่ด้านตรงข้าม  แล้วใช้ผ้าสามเหลี่ยมเปิดเต็มผืนวางพาดบนแขนข้างที่บาดเจ็บให้ปลายข้างหนึ่งพาดอยู่กับหัวไหล่ด้านปกติ  จากนั้นจับปลายผ้าด้านล่างอ้อมผ่านแขน  จนไปชนกับปลายบนที่หัวไหล่ด้านตรงข้าม  แล้วผูกด้วยเงื่อนพิรอด  เก็บมุมยอดผ้าที่ข้อศอกให้เรียบร้อย

    5.   การใช้ผ้าสามเหลี่ยมพันอก
        การใช้ผ้าสามเหลี่ยมพันอก  จะช่วยลดการเคลื่อนไหวบริเวณทรวงอก  กรณีกระดูกซี่โครงหัก  เริ่มต้นโดยวางผ้าทาบบนหน้าอกแล้วให้มุมยอดของผ้าสามเหลี่ยมพาดขึ้นไปที่ไหล่  แล้วอ้อมปลายผ้าทั้งสามมุมไปผูกมัดทางด้านหลัง

    6.   การใช้ผ้าสามเหลี่ยมพันสะโพก
        การใช้ผ้าสามเหลี่ยมพันสะโพก จะช่วยยึดและปิดบาดแผลบริเวณสะโพก  เริ่มต้นโดยวางผ้าทาบบริเวณโคนขา  โดยให้มุมที่ยอดของผ้าชี้ขึ้นจับปลายผ้าทั้งสองไขว้กันด้านใน  แล้วนำมาผูกเงื่อนพิรอดบริเวณโคนขาด้านนอก  ส่วนมุมยอดของผ้าให้กลัดติดผ้าอีกผืนหนึ่งที่นำมาทำเป็นเข็มขัด

    7.   การใช้ผ้าสามเหลี่ยมพันข้อศอกและเข่า
        การใช้ผ้าสามเหลี่ยมพันข้อศอกและเข่า  จะช่วยยึดหรือปิดบาดแผลที่บริเวณข้อศอกและเข่าจากกรณีต่างๆ  เริ่มต้นโดยการพับผ้าสามเหลี่ยมให้มีลักษณะคล้ายผ้าพันแผลแบบม้วน  มีความกว้างประมาณ  2 – 3  นิ้ว  แล้ววางผ้าทาบบริเวณข้อศอกหรือเข่า  ส่วนบริเวณที่บาดเจ็บ  จับปลายผ้าพันไขว้กัน  แล้วผูกยึดด้วยเงื่อนพิรอดบริเวณด้านตรงข้ามส่วนบริเวณที่บาดเจ็บ

    8.   การใช้ผ้าสามเหลี่ยมพันมือและเท้า
        การใช้ผ้าสามเหลี่ยมพันมือและเท้า  จะช่วยปิดหรือกดทับแผลบริเวณมือและเท้า  เริ่มต้นโดยวางมือหรือเท้าลงผ้าสามเหลี่ยม  แล้วจับมุมยอดของผ้าสามเหลี่ยมลงมาคลุมไว้  ห่อปลายผ้าทั้งสองข้างมาไขว้กัน  พันให้แน่นแล้วผูกด้วยเงื่อนพิรอด


แหล่งที่มา
teacher.snru.ac.th/thakorn/admin/document/userfiles/capter2.doc
http://122.154.90.155/blog/?p=214

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น